งานวิทยาศาสตร์ ของ วิลยนอร์ สุพรหมัณยัม รามจันทรัน

เพื่อที่จะเข้าใจว่าสมองทำงานอย่างไร ดร.รามจันทรันได้ทำการศึกษากลุ่มอาการทางประสาทเช่นกลุ่มอาการหลงผิดว่าแขนขายังคงอยู่ (phantom limb), body integrity identity disorder, และ อาการหลงผิดคะกราส์ ยิ่งกว่านั้นแล้ว เขายังมีผลงานเกี่ยวกับภาวะวิถีประสาทเจือกัน (synesthesia)[12][16] และเป็นที่รู้จักโดยสิ่งประดิษฐ์ของเขาเพื่อช่วยบรรเทากลุ่มอาการหลงผิดว่าแขนขายังคงอยู่ คือ กล่องกระจก

เขาได้เขียนบทความมากกว่า 180 ชิ้นในวารสารวิทยาศาสตร์ รวมทั้งวารสาร ''ธรรมชาติ (Nature)" "วิทยาศาสตร์ (Science)" "ธรรมชาติ-ประสาทวิทยาศาสตร์ (Nature Neuroscience)" "การรับรู้ (Perception)" และ "งานวิจัยในการเห็น (Vision Research)" รามจันทรันยังอยู่ในคณะกรรมการบรรณาธิการของวารสาร "สมมุติฐานทางการแพทย์ (Medical Hypotheses)" (ซึ่งเป็นวารสารของบริษัท Elsevier ที่ก่อน ค.ศ. 2010 เป็นวารสารวิทยาศาสตร์ที่ไม่มีการตรวจสอบของผู้ชำนาญในสาขาเดียวกัน) และได้เขียนบทความถึง 15 ชิ้นในวารสารนั้นอีกด้วย[21]

งานของรามจันทรันในพฤติกรรมประสาทวิทยา (behavioral neurology) ได้รับการเผยแพร่อย่างกว้างขวางโดยสื่อมวลชน เขาได้ปรากฏในภาพยนตร์สารคดีของช่อง 4 (สถานีโทรทัศน์สาธารณะของประเทศอังกฤษ) และ PBS (เครือข่ายสถานีโทรทัศน์สาธารณะของประเทศสหรัฐอเมริกา) นอกจากนั้นแล้ว ยังมีรายการเกี่ยวกับเขาเผยแพร่โดยฺบรรษัทแพร่ภาพกระจายเสียงอังกฤษ (BBC), Science Channel (ช่องวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นสถานีโทรทัศน์ของบริษัท Discovery Communications ประเทศสหรัฐอเมริกา), นิตยสาร Newsweek (ข่าวสัปดาห์ ของสหรัฐอเมริกา), รายการวิทยุ Radio Lab (ของ WNYC ซึ่งเป็นสถานีวิทยุสาธารณะในนครนิวยอร์ก), รายการ This American Life (ของ WBEC ซึ่งป็นสถานีวิทยุสาธารณะในนครชิคาโก), งานประชุม TED Talks (TED.com), และรายการโทรทัศน์ของชาลี โรส หนังสือของเขา คือ Phantoms In the Brain (อวัยวะแฟนตอมในสมอง)[14] ได้รับการสร้างเป็นภาพยนตร์สารคดีสองตอนเผยแพร่โดยช่อง 4 ของบรรษัทแพร่ภาพกระจายเสียงอังกฤษ (BBC) และเป็นภาพยนตร์ยาว 1 ชั่วโมงเผยแพร่โดย PBS ในสหรัฐอเมริกา นอกจากนั้นแล้ว เขายังเป็นหัวหน้าบรรณาธิการของ "สารานุกรมสมองมนุษย์" (ค.ศ. 2002) อีกด้วย

ดร.รามจันทรันได้กล่าวด้วยความอาลัยเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า งานวิทยาศาสตร์ได้กลายเป็นอาชีพเพื่อทำมาหากินมากเกินไป คือ ในการสัมภาษณ์กับสมาคมประสาทวิทยาศาสตร์แห่งประเทศอังกฤษในปี ค.ศ. 2010 เขาได้กล่าวไว้ว่า

แต่ว่า ที่ ๆ ผมอยากจะไปจริง ๆ เลย ก็คือกลับไปในกาลเวลา กลับไปยังสมัยวิคตอเรีย ก่อนที่งานวิทยาศาสตร์จะกลายเป็นอาชีพเพื่อทำมาหากินมากเกินไป ก่อนที่จะกลายเป็นงาน 9 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็น ที่ประกอบด้วยความยุ่งยากเหมือนกับฝันร้ายในเรื่องการแสวงหาการใช้อำนาจและการหาเงินอุปถัมภ์งานวิจัย ในยุคนั้น นักวิทยาศาสตร์มีแต่ความสนุก สำหรับบุคคลเช่นชาลส์ ดาร์วิน และทอมัส ฮักซ์ลีย์ (นักชีววิทยาชาวอังกฤษผู้มีชื่อเสียงในการสนับสนุนทฤษฎีของดาร์วิน) โลกทั้งใบเป็นสนามเล่นของพวกเขา[22]

ในปี ค.ศ. 2012 นักประสาทวิทยาศาสตร์ปีเตอร์ บรักเกอร์ วิจารหนังสือของรามจันทรัน คือ The Tell-Tale Brain (สมองนักเล่านิทาน) ว่าเป็นหนังสือประสาทวิทยาศาสตร์ประชานิยม เพราะให้แต่คำตอบที่ล่องลอยไม่ชัดเจนต่อคำถามที่มีความสำคัญ[23]

รามจันทรันตอบว่า

เป็นความจริงว่า ผมได้กล่าวประเด็นต่าง ๆ ไว้อย่างครอบคลุมจักรวาล รวมทั้งการรับรู้ทางตา, stereopsis (การเห็นทิวทัศน์พร้อมแนวลึก), กลุ่มอาการหลงผิดว่าแขนขายังคงอยู่ (phantom limb), การปฏิเสธสภาวะอัมพาต (ของคนไข้), อาการหลงผิดคะกราส์, ภาวะวิถีประสาทเจือกัน (synesthesia), และเรื่องอื่น ๆ อีกมาก ซึ่งอาจจะดีหรือไม่ดี[24]

การเห็นในมนุษย์

งานยุคต้น ๆ ของ ดร.รามจันทรันมีความเกี่ยวข้องกับการรับรู้ทางตา โดยใช้วิธีทางจิตกายภาพ เพื่อให้อนุมานได้อย่างชัดเจนถึงกลไกในสมอง ที่เป็นรากฐานของการประมวลผลทางตารามจันทรันได้รับเครดิตว่าเป็นผู้ค้นพบปรากฏการณ์และภาพลวงประสาททางตาแบบใหม่ ๆ

ดร.รามจันทรันยังได้ประดิษฐ์กลุ่มตัวกระตุ้นทางตาประเภทหนึ่ง (เรียกว่า เส้นขอบแฟนตอม [phantom contours]) ซึ่งเข้าไปกระตุ้นวิถีประสาท magnocellular ในการเห็นของมนุษย์ เป็นตัวกระตุ้นที่แอนน์ สเปอร์ลิงก์และคณะได้ใช้เพื่อตรวจสอบภาวะเสียการอ่านรู้ความ (dyslexia)[25]

อวัยวะแฟนตอม

เมื่อมีการตัดแขนหรือขาออกไป คนไข้บ่อยครั้งยังมีความรู้สึกอย่างชัดเจนว่ายังมีอวัยวะเหล่านั้นอยู่ โดยเป็น "อวัยวะแฟนตอม"[14] โดยต่อยอดงานวิจัยของโรแนลด์ เม็ลแซคก์ แห่งมหาวิทยาลัยแมคกิลล์ (แคนาดา) และของทิโมธี พอนส์ แห่งสถาบันสุขภาพจิตแห่งชาติ (NIMH) (สหรัฐอเมริกา) ดร.รามจันทรันตั้งทฤษฎีว่า มีความสัมพันธ์กันระหว่างปรากฏการณ์อวัยวะแฟนตอมและสภาพพลาสติกของระบบประสาท (neural plasticity) ในสมองของมนุษย์ผู้ใหญ่

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เขามีทฤษฎีว่า แผนที่ภาพทางกายในคอร์เทกซ์รับความรู้สึกทางกาย เปลี่ยนแปลงไปเมื่อมีการตัดอวัยวะออก ในปี ค.ศ. 1993 โดยทำงานร่วมกับแยง ผู้กำลังทำงานวิจัยใช้ภาพ magnetoencephalography (MEG)[26] ที่สถานบันวิจัยสคริปป์ส[27] รามจันทรันแสดงให้เห็นว่า มีความเปลี่ยนแปลงที่วัดได้ในคอร์เทกซ์รับความรู้สึกทางกายของคนไข้หลายคนที่ผ่านการตัดแขนออก[28][29]รามจันทรันตั้งทฤษฎีว่า มีความสัมพันธ์ระหว่างการจัดระเบียบใหม่ในคอร์เทกซ์ที่ชัดเจนในภาพ MEG และความรู้สึกที่ยังหลงเหลืออยู่ที่พบในคนไข้ เขากล่าวถึงทฤษฎีนี้ในบทความ "ความสัมพันธ์ของการรับรู้กับการจัดระเบียบใหม่อย่างกว้างขวางในคอร์เทกซ์ (Perceptual correlates of massive cortical reorganization)"[30]

ถึงแม้ว่ารามจันทรันจะเป็นคนหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์พวกแรก ๆ ที่เน้นบทบาทของการเปลี่ยนแปลงในคอร์เทกซ์ว่า เป็นมูลฐานของอาการหลงผิดว่าแขนขายังคงอยู่ แต่งานวิจัยต่อ ๆ มากลับแสดงว่า ความรู้สึกที่หลงเหลืออยู่ไม่ได้เกิดขึ้นเนื่องด้วยการเปลี่ยนแปลงในคอร์เทกซ์หลังจากตัดอวัยวะออก[31] จนถึงทุกวันนี้ คำถามว่า กระบวนการทางประสาทอะไรที่สัมพันธ์กับความรู้สึกที่ยังหลงเหลืออยู่และไม่ประกอบด้วยความเจ็บปวดนั้น ยังไม่มีคำตอบ

ข้อมูลป้อนกลับทางตาด้วยกระจก

รามจันทรันได้รับเครดิตว่าเป็นผู้ประดิษฐ์กล่องกระจก และเริ่มใช้เทคนิคให้ข้อมูลป้อนกลับทางตากับสมองโดยใช้กล่องกระจก เพื่อบรรเทาภาวะหลายอย่างที่เกี่ยวกับความเจ็บปวดเนื่องด้วยอาการหลงผิดว่าแขนขายังคงอยู่, โรคลมปัจจุบัน, และอาการเจ็บปวดเฉพาะที่. งานวิจัยหลายงานที่ใช้การรักษาด้วยกระจก แสดงอนาคตที่สดใสของวิธีรักษานี้[32][33]

อย่างไรก็ดี โดยการทดลองที่มีกลุ่มควบคุมและใช้การสุ่ม วิธีรักษาด้วยกระจกกลับปรากฏว่ามีผลที่ขัดแย้งกัน (คือไม่ชัดเจนว่าได้ผลจริง ๆ หรือไม่)[34] ดังนั้น การใช้วิธีรักษานี้ยังอยู่ภายใต้การตรวจสอบในขั้นทดลองอยู่[35]

วงจรประสาทไขว้ในสมอง

ผู้มีภาวะวิถีประสาทเจือกันที่เห็นสีพร้อมกับเห็นสัญลักษณ์ต่าง ๆ อาจสามารถค้นพบ "สามเหลี่ยม" ที่มีอยู่ทางภาพด้านซ้าย ได้อย่างง่าย ๆ และรวดเร็วกว่าผู้ไม่มีภาวะนี้
ดูบทความหลักที่: ภาวะวิถีประสาทเจือกัน

บนรากฐานของงานวิจัยเกี่ยวกับอวัยวะแฟนตอม[14] รามจันทรันได้ตั้งทฤษฎีว่าภาวะวิถีประสาทเจือกัน (synesthesia) เกิดขึ้นจากการที่มีการทำงานข้ามไปข้ามมา (cross-activation) ในเขตต่าง ๆ ของสมอง[36][37]

เขาได้กล่าวไว้ว่า

ประเภทย่อย ๆ ของการเจือกันของวิถีประสาทแบบสี-ตัวเลข เกิดจากการเชื่อมต่อกันเกินกว่าปกติระหว่างเขตสมองที่เกี่ยวข้องกับสีและตัวเลขในระดับต่าง ๆ ของระบบการประมวลผล ผู้มีวิถีประสาทเจือกันของเขตสมองระดับต่ำ อาจจะมีการทำงานที่ข้ามเขตในรอยนูนรูปกระสวย (fusiform gyrus) เปรียบเทียบกับผู้มีวิถีประสาทเจือกันของเขตสมองระดับสูง อาจจะมีการทำงานที่ข้ามเขตในรอยนูนแองกูลาร์ (angular gyrus)[36]

และคล้องจองกันกับแบบแผนนี้ รามจันทรันพบการทำงานในระดับที่สูงขึ้นในเขตสมองที่ตอบสนองต่อสีในผู้มีวิถีประสาทเจือกัน เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่มี โดยตรวจสอบด้วยภาพสมองแบบ fMRI[37][38] และโดยใช้การสร้างภาพแบบ MEG เขาได้แสดงว่า ความแตกต่างในส่วนประสาทที่กล่าวถึงระหว่างผู้มีวิถีประสาทเจือกันและผู้ที่ไม่มี เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อมีการแสดงตัวอักษร[39]

รามจันทรันคาดหมายว่า ภาวะวิถีประสาทเจือกันและคำอุปมาอาจจะมีมูลฐานเดียวกันคือการเชื่อมต่อกันข้ามคอร์เทกซ์ของระบบประสาท ในปี ค.ศ. 2003 รามจันทรันและเอ็ดวาร์ด ฮับบาร์ด พิมพ์งานวิจัยที่ให้การคาดหมายว่า รอยนูนแองกูลาร์เป็นองค์ประกอบในการเข้าใจคำอุปมาอุปไมย[40]

วิวัฒนาการของภาษา

คล้องจองกับงานของแล็คอ็อฟและจอนห์สัน[41] รามจันทรันยกประเด็นว่า คำอุปมาอุปไมยนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นลอย ๆ

รามจันทรันและฮับบาร์ดเสนอว่า

กฏธรรมชาติ (ของการสร้างคำอุปมาอุปไมย) มีข้อจำกัดทางกายวิภาคที่สำคัญ ที่อนุญาตการทำงานข้ามเขตบางอย่าง แต่ไม่ใช่ทุกอย่าง[36]:18

รามจันทรันเสนอว่า วิวัฒนาการของภาษาเกิดจากแผนที่สัมพันธ์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นลอย ๆ 3 อย่าง คือ เสียงกับรูปร่างที่เห็น (เช่นในปรากฏการณ์บูบา/กิกี) การเจือกันของวิถีประสาทของประสาทรับรู้กับประสาทสั่งการเคลื่อนไหว (sensory-to-motor) และ การเจือกันของวิถีประสาทของประสาทสั่งการเคลื่อนไหวกับประสาทสั่งการเคลื่อนไหว (motor-to-motor)[36]:18-23

เซลล์ประสาทกระจก

ดูบทความหลักที่: เซลล์ประสาทกระจก

เป็นที่รู้กันดีว่า รามจันทรันเป็นผู้เน้นความสำคัญของเซลล์ประสาทกระจก (Mirror neuron) เขาได้กล่าวว่า การค้นพบเซลล์ประสาทกระจกเป็นข่าวสำคัญที่สุดที่ไม่ได้รับการเผยแพร่ (จากสื่อมวลชน) ภายในทศวรรษที่ผ่านมา[42] (คือมีการแจ้งถึงเซลล์ประสาทกระจกเป็นครั้งแรกในงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1992 โดยกลุ่มนักวิจัยนำโดยเกียโคโม ริซโซลาตตี ที่มหาวิทยาลัยปาร์มา ที่เมืองปาร์มาในประเทศอิตาลี[43])

ในปี ค.ศ. 2000 รามจันทรันพยากรณ์ว่า

เซลล์ประสาทกระจกจะมีผลต่อจิตวิทยา เหมือนกับดีเอ็นเอมีผลต่อชีววิทยา คือ จะเป็นโครงสร้างโดยรวมที่ช่วยอธิบายความสามารถต่าง ๆ ของจิต ที่ยังเป็นสิ่งที่ลึกลับและเข้าถึงไม่ได้ด้วยการทดลอง[44][45]

รามจันทรันคาดหมายว่า งานวิจัยถึงบทบาทในเซลล์ประสาทกระจก จะช่วยอธิบายความสามารถทางจิตใจของมนุษย์ เช่นความเห็นใจผู้อื่น การเรียนรู้โดยลอกเลียนแบบ และวิวัฒนาการทางภาษา รามจันทรันยังได้ตั้งทฤษฎีขึ้นด้วยว่า เซลล์ประสาทกระจกอาจเป็นกุญแจในการเข้าใจระบบประสาทซึ่งเป็นรากฐานของความรู้สึกว่าตนในมนุษย์[46][47]

ทฤษฎีเกี่ยวกับออทิซึม

ดูบทความหลักที่: ออทิซึม

ในปี ค.ศ. 1999 รามจันทรัน โดยร่วมงานกับนายอีริค แอลท์สกูเลอร์ ผู้รับอบรมหลังปริญญาเอก (ในเวลานั้น) และเจมี พิเนดา ผู้เป็นเพื่อนร่วมงาน เป็นกลุ่มนักวิจัยกลุ่มแรกที่เสนอว่า การสูญเสียเซลล์ประสาทกระจก อาจเป็นความบกพร่องตัวสำคัญที่อธิบายอาการและปรากฏการณ์หลาย ๆ อย่างของโรคกลุ่มออทิซึมสเปกตรัม (autism spectrum disorder ตัวย่อ ASD)[48][49] ในระหว่างปี ค.ศ. 2000 และ 2006 รามจันทรันและคณะที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานดิเอโก ได้พิมพ์บทความหลายชิ้นที่สนับสนุนทฤษฎีนี้ ซึ่งกลายเป็นทฤษฎีที่รู้จักกันว่า "ทฤษฎีกระจกแตก" (Broken Mirrors) ของโรคออทิซึม[50][51][52] รามจันทรันและคณะไม่ได้วัดค่าการทำงานของเซลล์ประสาทกระจกโดยตรง แต่แสดงให้เห็นว่า เด็กที่มีภาวะ ASD มีการตอบสนองที่ผิดปกติทางคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) (ที่รู้จักกันว่า Mu wave suppression หรือการระงับคลื่นสมองมู) เมื่อเปรียบเทียบกับสมองของผู้อื่น

ในปี ค.ศ. 2006 รามจันทรันให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Frontline (แนวหน้า) ของอินเดีย ซึ่งเขากล่าวว่า

สิ่งหนึ่งที่เราค้นพบในห้องทดลองก็คือเหตุของความผิดปกติที่โหดร้ายอย่างหนึ่งซึ่งเรียกว่า ออทิซึม ความบกพร่องในระบบเซลล์ประสาทกระจกสามารถอธิบายกลุ่มอาการต่าง ๆ ที่เป็นสัญลักษณ์ของโรคออทิซึมเพียงโรคเดียว ที่ไม่พบในโรคอื่น ๆ... โดยสรุปก็คือ เราได้ค้นพบมูลฐานของโรคออทิซึมในปี ค.ศ. 2000[53]

การยืนยันของรามจันทรันว่า ระบบเซลล์ประสาทนิวรอนที่ผิดปกติเป็นมูลฐานของออทิซึม ยังเป็นสิ่งที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง ในบทความปฏิทัศน์ปี ค.ศ. 2011 ของหนังสือ The Tell-Tale Brain (สมองนักเล่านิทาน) ไซมอน บารอน-โคเฮ็น ผู้อำนวยการของศูนย์วิจัยออทิซึมที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์กล่าวว่า

ในฐานะเป็นเครื่องอธิบายโรคออทิซึม ทฤษฎีกระจกแตกได้ให้เงื่อนงำที่ยั่วเย้าใจ แต่ว่า หลักฐานตรงกันข้ามบางอย่างขัดแย้งกับทฤษฎีนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับขอบเขตของทฤษฎี[54]

เมื่อตระหนักแล้วว่า ระบบเซลล์ประสาทกระจกที่ผิดปกติเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถอธิบายกลุ่มอาการที่กว้างขวางของ ASD รามจันทรันจึงได้ตั้งทฤษฎีเพิ่มขึ้นอีกว่า โรคลมชักในสมองกลีบขมับในวัยเด็ก และความผิดปกติช่วงพัฒนาของป่องรับกลิ่น (olfactory bulb dysgenesis) อาจมีบทบาทในกลุ่มอาการของ ASD

ในปี ค.ศ. 2010 รามจันทรันกล่าวว่า

ทฤษฎีเกี่ยวกับป่องรับกลิ่น มีความเกี่ยวข้องอย่างสำคัญในการวินิจฉัยและรักษา (โรคกลุ่มอาการ ASD)

และประกาศว่า คณะของเขาจะดำเนินงานวิจัยที่เปรียบเทียบขนาดป่องรับกลิ่นของคนไข้ออทิซึมเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมผู้เป็นปกติ[55]

Apotemnophilia

ในปี ค.ศ. 2008 รามจันทรัน พร้อมทั้งเดวิด แบรงก์ และพอล์ แม็คกิออค ตีพิมพ์ผลงานวิจัยงานแรกที่เสนอว่า apotemnophilia เป็นโรคทางประสาทที่เกิดขึ้นจากความเสียหายในสมองกลีบข้าง[56]

โรคที่มีน้อยนี้ ซึ่งคนไข้ต้องการจะให้ตัดอวัยวะของตนออก ได้รับการบ่งชี้เป็นครั้งแรกโดยจอหน์ มันนี ในปี ค.ศ. 1977. โดยต่อยอดงานก่อน ๆ ของรามจันทรันซึ่งชี้ถึงแผนภาพร่างกายในสมอง รามจันทรันและคณะได้เสนอว่า โรคนี้เกิดจากภาพร่างกายในสมองที่ไม่สมบูรณ์ ดังนั้น ผู้มีภาวะนี้จึงเห็นอวัยวะของตนเป็นส่วนเกินที่ไม่คุ้นเคยและอยู่นอกกายของตน[56] รามจันทรันได้ขยายของเขตทฤษฎีนี้โดยเสนอว่าโรคเบื่ออาหารเหตุจิตใจ (anorexia nervosa) อาจจะเป็นโรคเกี่ยวกับภาพร่างกายที่มีมูลมาจากระบบประสาท ไม่ใช่เป็นโรคเกี่ยวกับความอยากอาหารที่มีเหตุในไฮโปทาลามัส[57]

อาการหลงผิดคะกราส์

ดูบทความหลักที่: อาการหลงผิดคะกราส์

โดยร่วมงานกับผู้รับอบรมหลังปริญญาเอก (ในเวลานั้น) คือวิลเลียมส์ เฮอร์สไตน์ รามจันทรันตีพิมพ์งานวิจัยในปี ค.ศ. 1997 ซึ่งแสดงทฤษฎีที่อธิบายมูลฐานทางประสาทของอาการหลงผิดคะกราส์ (Capgras delusion) ซึ่งเป็นอาการหลงผิดที่คนไข้คิดว่า สมาชิกในครอบครัวและบุคคลผู้เป็นที่รักอื่น ๆ มีการทดแทนด้วยตัวปลอม ก่อนหน้านั้น อาการนี้ได้รับการอธิบายว่า เกิดจากความขาดออกจากกันของการรู้จำใบหน้า (facial recognition) และความตื่นตัวของอารมณ์ความรู้สึก (emotional arousal)[58]

รามจันทรันและเฮอร์สไตน์ ได้เสนอคำอธิบายเกี่ยวกับโครงสร้างที่มีความเฉพาะเจาะจงยิ่งกว่าคำอธิบายเดิมว่า อาการหลงผิดคะกราส์เป็นผลจากการเชื่อมต่อที่ขาดจากกันของเขตรับรู้หน้าในรอยนูนรูปกระสวย (fusiform face area) ที่มีบทบาทในการรับรู้ใบหน้า และอะมิกดะลา (amygdala) ซึ่งมีบทบาทในการตอบสนองด้วยอารมณ์ความรู้สึกต่อใบหน้าที่คุ้นเคย

นอกจากนั้นแล้ว โดยมีพื้นฐานในแบบจำลองของพวกเขา และการตอบสนองของคนไข้ที่พวกเขาตรวจสอบ (ผู้เป็นชาวบราซิลที่มีความบาดเจ็บที่ศีรษะเนื่องจากอุบัติเหตุรถยนต์) รามจันทรันและเฮอร์สไตน์ได้เสนอทฤษฎีที่ทั่วไปเกี่ยวกับการสร้างความทรงจำพวกเขาสันนิษฐานว่า บุคคลผู้มีอาการหลงผิดคะกราส์ สูญเสียความสามารถในการจัดระเบียบหรือการจัดประเภทของความทรงจำ ดังนั้น จึงไม่สามารถจัดการความจำเหล่านั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ แทนที่จะมีความทรงจำเชื่อมต่อกันเกี่ยวข้องกับคน ๆ หนึ่ง ความทรงจำต่าง ๆ กันกลับประกอบด้วยความรู้สึกว่าเกี่ยวข้องกับคนต่าง ๆ กัน[59]

ความมีเพศสลับไปมา

ในปี ค.ศ. 2012 เคสและรามจันทรันรายงานถึงผลการสำรวจบุคคลผู้มีภาวะ bigender[60] ผู้ประสบการสลับไปมาระหว่างพฤติกรรมเป็นชายและพฤติกรรมเป็นหญิงที่อยู่นอกอำนาจจิตใจ เคสและรามจันทรันสันนิษฐานว่า การสลับไปมาของของพฤติกรรมอาจจะเกิดจากการสลับการทำงานในสมองสองซีกในระดับที่ลึกซึ้งกว่าปกติ และมีการเข้าไปยับยั้งแผนที่ทางกายที่เป็นไปตามเพศจริง ๆ ของตนในคอร์เทกซ์กลีบข้าง

พวกเขาได้กล่าวไว้ว่า

เราสันนิษฐานว่า โดยติดตาม nasal cycle[61] ระดับการสลับตาในปรากฏการณ์การแข่งขันระหว่างสองตา และตัวบ่งชี้อย่างอื่นที่แสดงการสลับการทำงานระหว่างซีกสมองทั้งสองข้าง ก็จะสามารถค้นพบเหตุทางสรีรภาพ ของการที่ผู้มีพฤติกรรมสองเพศแจ้งถึงการกลับเพศที่เป็นอัตวิสัย ทฤษฎีของเรามีมูลฐานในความสัมพันธ์ระหว่างสมองซีกซ้ายและสมองซีกขวากับเพศชายและเพศหญิง ทั้งที่แสดงไว้ตั้งแต่สมัยโบราณและทั้งที่แสดงไว้ในปัจจุบัน[62][63]

แหล่งที่มา

WikiPedia: วิลยนอร์ สุพรหมัณยัม รามจันทรัน http://www.abc.net.au/rn/science/mind/stories/s135... http://www.mcgill.ca/beatty/past/mini http://s3.amazonaws.com/thesciencenetwork/SalkServ... http://neuroskeptic.blogspot.com/2012/04/bigender-... http://www.charlierose.com/view/interview/10468 http://www.expertwitnessblog.com/2007/10/brain_exp... http://www.flonnet.com/fl2306/stories/200604070054... http://books.google.com/?id=0Z0TAQAAMAAJ http://books.google.com/books?id=zCZUpYlozycC&pg=P... http://www.hindawi.com/journals/prt/2011/864605/